Tuesday, June 5, 2012

ฉลาดผูก ฉลาดแก้

ธรรมะจากวัดเทวราชเวนิส ประเทศอิตาลี
5 มิถุนายน 2555

"ฉลาดผูก..ฉลาดแก้"

เมื่อพูดถึงความฉลาด..เชื่อแน่ว่าทุกท่านอยากจะเป็นคนฉลาด คนเก่ง ( เก่งอย่างเดียวไม่พอ..ต้องมีบุญประกอบด้วย) ความฉลาดนั้น ไม่ได้มีเท่ากัน ไม่ได้ฉลาดไปเสียทั้งหมด บางคนฉลาดเพื่อจะทุจริตคิดคดโกง บางคนฉลาดเพื่อส่วนรวม บางคนฉลาดเพื่อพัฒนา เป็นต้น
ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ย่อมจะมีปัญหาน้อยใหญ่เข้ามากระทบกระทั่งกันบ้าง นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับเราแล้ว สิ่งสำคัญเราจะต้องมีปฏิภาณ คือความฉลาด มาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ส่วนใครจะฉลาดมาก ฉลาดน้อย ย่อมแล้วแต่ความรู้ที่ได้เล่าเรียนได้สัมผัสมาถ้ามีความรู้มาก ก็ยิ่งมีกำลังสามารถมาก ถ้ามีความรู้ความฉลาดน้อย แต่ได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติม ก็อาจจะฉลาดได้

แล้วเราควรฉลาดอะไร..? เราอาจจะฉลาดในเรื่องวิชาการ หลักการ ควรรู้ จบปริญญา ฯลฯ เป็นต้น แต่นั้นก็ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงอยู่ในโลกสังคมนี้ เราควรมีความฉลาดรอบคอบ นั้นคือ ฉลาดผูกและฉลาดแก้

คนบางคนเพียงแต่ฉลาดผูกแต่ไม่ฉลาดแก้หรือเพียงแต่ฉลาดแก้แต่ไม่ฉลาดผูก ก็ย่อมที่จะไม่อำนวยให้ชีวิตของเขาประสพความสำเร็จได้ ต้องฉลาดทั้งผูกและฉลาดทั้งแก้ เราเรียกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลาย ๆ ด้านว่า เป็นผู้มีความสามรถสูงนั้น ในความเป็นจิรงแล้ว ความสามารถดังกล่าวก็คือความเป็นผู้ฉลาดผูกฉลาดแก้นั่งเอง

คำว่า ฉลาดผูกนั้น หมายถึง ให้เรารู้จักผูกไมตรี ให้มีมนุษย์สัมพันธ์ในสังคม เราต้องยอมรับความจริงว่า คนเราจะอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ นักปราชญ์กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ธรรมชาติสร้างมนุษย์ขึ้นมาโดยหวังที่จะให้อยู่กันเป็นหมู่เป็นสมาคม ต้องพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงจะมีความสุข สมกับเป็นมนุษย์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า คนที่จะมีพวกพ้องเพื่อนฝูงมาก หรือ ควบคุมบริษัทบริวารให้มีความรักใคร่สนินสนมกับตนได้นั้น ต้องประพฤติตามหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวน้ำใจคน ที่เรียนกว่า สังคหวัตถุ เพราะเป็นความประพฤติอันดีงาม สามารถเหนี่ยวรั้งน้ำใจผู้อื่นให้รักใคร่เคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลังอย่างไม่จืดจาง สังคหวัตถุ 4 ประการคือ 1. ทาน การให้ 2.ปิยวาจา พูดวาจาไพเราะ อ่อนหวาน 3. อัตถจริยา ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และ 4. สมานัตตตา การวางตนเสมอต้นเสมอปลายไม่ถือตัว

ส่วนคำว่า ฉลาดแก้ หมายถึง ความฉลาดสามารถในการแก้ไขปัญหา หรือความยุ่งยากของชีวิต
มนุษย์เรานั้นมีความยุ่งอยู่ 2 อย่าง คือ 1.ยุ่งภายใน 2.ยุ่งภายนอก ยุ่งภายในนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ คือ จิตใจดิ้นรนกระวนกระวาย ไม่มีความสงบ เพราะถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ ขาดความอิสระ ขาดความสุขใจ เมื่อเกิดความยุ่งภายในขึ้น ถ้าระงับไว้ไม่อยู่ก็แสดงออกมาภายนอกทางตาบ้าง ทางปากบ้าง ทางมือบ้าง ทำให้พฤติกรรมทางกาย วาจา ของเราผิดปกติไป ส่วนยุ่งภายนอก หมายถึง ยุ่งเรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่องญาติพี่น้อง เรื่องการอุปโภคบริโภค สาเหตุที่มนุษย์เราต้องยุ่งกันอย่างนี้ ก็เพราะความอยาก ซึ่งความอยากก็มีหลายประเภท เช่น อย่างมี อยากเป็น อยากรวย อยากสวย อยากสุข อยากสบายเป็นต้น ความอยากแต่ละอย่าง เกิดขึ้นที่ใจก่อน เมื่อใจเกิดอยากขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา อยากอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ทำให้พอแก่ความอยาก แต่ใจของเราไม่เคยรู้จักพอ พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักเต็ม จึงทำให้คนเราต้องลำบากเดือนร้อน ดังนั้นเมื่อเกิดความอยากขึ้น ท่านบอกให้ฉลาดในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ความรู้จักพอประมาณ พอดี พอเพียงนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ท่านสาธุชนทั้งหลาย เมื่อทราบชัดข้อนี้แล้ว ควรเป็นผู้ฉลาดผูก และเป็นผู้ฉลาดแก้ไข แล้วน้อมนำหลักธรรมนี้ไปพิจารณาด้วยปัญญาอันชอบ แล้วปฏิบัติตามกำลังและโอกาส ย่อมก่อให้เกิดความสงบสุขในชีวิตตลอดไป.

พระมหาวินัย วินยธโร
เจ้าอาวาสวัดเทวราชเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี


โดย... ดาขอทำหน้าที่เป็นสะพานบุญแก่ เพื่อนๆทุกคนที่แวะมาเยี่ยมเยียนที่บ้านหลังนี้ ขอให้เพื่อนๆ มีความสุขทุกคนเทอญ

No comments:

Post a Comment

My photo
ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ ยังมีโมหะ โทสะ โลภ โกรธและหลง เหมือนกับคนอื่นๆ แต่ทุกลมหายใจ ณ.เวลานี้ มีแต่วันนี้และพรุ่งนี้ คิดดี ทำดี และเป็นกัลยาณมิตรที่ดี สร้างกุศลให้ลูกหลาน